ตี่จู๋เอี๊ย แปลว่า เทพเจ้าของที่ดิน เทียบได้กับ เจ้าที่ หรือผีบ้าน ผีเรือน คำว่า ตี่จู๋เอี๊ย เป็นภาษาแต้จิ๋ว แต่คนจีนทั้ง ๕ กลุ่ม คือ แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง ไหหลำ และแคะ มีการตั้งตี่จู๋เอี๊ยเหมือนกัน หากเรียกแตกต่างกันไป เช่น ไหหลำเรียกว่า ดีตู่กง กวางตุ้ง เรียกว่า เต่ยจี๋ ลูกหลานจีนโพ้นทะเลในเมืองไทยเกือบทุกบ้านผูกพันและคุ้นเคยกับ “ตี่จู๋เอี๊ย” มาตั้งแต่ก่อนเกิด เพราะว่าคนรุ่นปู่หรือรุ่นพ่อที่อพยพมาจากเมืองจีนตั้งตี่จู๋เอี๊ยไว้ในบ้าน พอถึงรุ่นลูกรุ่นหลานมีครอบครัวแยกบ้านออกไปหลายคนยังจัดตั้งตี่จู๋เอี๊ยตามแบบบ้านพ่อแม่
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า “ลูกหลานจีนโพ้นทะเลในเมืองไทยเกือบทุกบ้านผูกพันและคุ้นเคยกับ “ ตี่จู๋เอี๊ย” มาตั้งแต่ก่อนเกิด” เพราะตี่จู๋เอี๊ยมีบทบาท มีส่วนเกี่ยวข้องกับแต่ละช่วงชีวิตของลูกหลานจีนโพ้นทะเล หลายบ้านจัดน้ำชาไหว้ทุกเช้าเป็นปกติ จัดขนมไหว้เมื่อถึงวันพระจีน (วัน ๑ ค่ำ และวัน ๑๕ ค่ำ) และตามเทศกาลสำคัญของจีน นอกจากนี้เมื่อมีเหตุการณ์เกี่ยวกับคนในครอบครัวจะจุดธูปไหว้บอกกล่าวท่าน
“เพราะตี่จู๋เอี๊ยเป็นเทพเจ้าที่ใกล้ชิดกับคนในครอบครัวมากที่สุดเป็นเหมือนผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้าน เมื่อเกิดอะไรขึ้นในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี เรื่องร้าย เราจึงบอกกล่าวกับท่านเสมือนกับบอกผู้ใหญ่ของครอบครัว”และอาจเป็นเพราะความใกล้ชิดระหว่างคนในบ้านกับตี่จู๋เอี๊ยจึงไม่ได้มีศาลพำนักใหญ่โต
นอกจากนี้ในระยะแรกๆ ที่คนจีนโพ้นทะเลมาทำกินในประเทศไทย ตี่จู๋เอี๊ยไม่ได้มีศาลสวยงามเช่นทุกวันนี้ หากใช้กระดาษสีแดงหมึกสีดำ เขียนอักษรจีนคำว่า “ตีจู่ซิ่งอุ่ย – ที่สิงสถิตของเทพเจ้า” มุมซ้ายบนเขียนอักษรจีนว่า “ฮวง มาจากฮวงนั้ง หมายถึง คนไทย” มุมขวาบนเขียนคำว่า “ตึ่ง – มาจากตึ่งนั้ง หมายถึงคนจีน” (ความเชื่อของจีน ด้านซ้ายใหญ่กว่าด้านขวา) ภายหลังมาใช้คำว่า ไทแทนฮวง ตามเสียงประเทศไทย และคำว่า ตงแทนตึ่งซึ่งมาจากคำว่าตงกก-ประเทศจีน ด้านล่างของตัวหนังสือทั้ง ๒ ตัวเป็นตุ๊ยเลี้ยงที่เขียนคำมงคล กระดาษที่ปิดนั้นเมื่อถึงวันตรุษจีนจึงเปลี่ยนกระดาษใหม่ครั้งหนึ่ง และมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตี่จู๋เอี๊ยว่า เถ้าแก่คนหนึ่งอายุ ๖๐ กว่าปี แล้วยังไม่มีลูกสักคน จึงจ้างวานให้คนเฝ้าศาลเจ้าเขียนตุ้ยเลี้ยงสำหรับปิดตี่จู๋เอี๊ยที่บ้าน เพื่อขอพรจากตี่จู๋เอี๊ย
“ปีแรกคนเฝ้าศาลเขียนคำกลอนว่า ‘ตี่อ๋วงแซกุ่ยจื้อ จู้เฮงซั่วเล่งยี้-สถานที่ดีให้กำเนิดอภิชาตบุตร เจ้า (ของ) บ้านดวงดีได้ลูกชาย’ แต่เถ้าแก่ขี้เหนียว แถมยังดูถูกคนเฝ้าศาล ว่าคงไม่มีความรู้สักเท่าไหร่ ให้เงินค่าเขียนหนังสือเพียงเล็กน้อย ปีถัดมาคนเฝ้าศาลเห็นแก่เถ้าแก่จึงถามว่าได้ลูกชายสมใจหรือยัง เมื่อทราบว่าเถ้าแก่ยังไม่มีลูกจึงอาสาเขียนคำกลอนให้ใหม่ว่า ‘ตี่อ๋วงแซเคี้ยงจื้อ จู้เฮงซั่วเก้ายี้-สถานที่ดีให้กำเนิดลูกสุนัข เจ้า (ของ) บ้านดวงดีได้ลูกหมา’ เพื่อแก้เผ็ดเถ้าแก่ขี้เหนียว เถ้าแก่อ่านหนังสือไม่ออกก็เอาไปปิดที่บ้านประจานตัวเอง” หลังจากนั้นยุคใช้กระดาษแดงติดตี่จู๋เอี๊ยก็พัฒนามาเป็นกระจกพิมพ์สี จนเป็นศาลเจ้าสีแดงหลังเล็กในปัจจุบัน แต่ไม่ว่ายุคใดตี่จู๋เอี๊ยก็ยังคงตั้งบนพื้นบ้าน (ชั้นล่าง) เสมอ
แม้ตี่จู๋เอี๊ยจะเป็นเทพเจ้าที่ใกล้ชิดและคุ้นเคยกับคนจีนโพ้นทะเลเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่ใช่กับคนจีนในเมืองจีน แต่ที่เมืองจีนไม่ค่อยเห็นตี่จู๋เอี๊ย ในบ้านจะไหว้เจ้าเตาเป็นหลัก แต่ถ้าพูดถึงเทพเจ้าที่ทำหน้าที่เหมือนผู้ใหญ่ของบ้านแบบตี่จู้เอี๊ยนั้นที่เมืองจีนมี “แป๊ะกง-เจ้าที่ประจำหมู่บ้าน”
อาจารย์ถาวร สิกขโกศล อธิบายให้ฟังว่า “ที่เมืองจีนถือว่าถ้าบ้านไหนมีตี่จู๋เอี๊ย ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี เพราะแสดงว่าบ้านที่อาศัยเขาอยู่ไม่มีผีบรรพชนของตนคอยคุ้มครอง จึงต้องตั้งตี่จู๋เอี๊ยไว้คอยคุ้มครองแทน จะตั้งป้ายสถิตวิญญาณหรือแกซิ้งของบรรพบุรุษไม่ได้เพราะไม่ใช่บ้านของตัวเอง ฉะนั้นเวลาไปบ้านญาติหรือบ้านเพื่อนที่เมืองจีน ไม่ควรไปถามถึงตี่จู๋เอี๊ยของบ้านเขา เพราะถือเป็นการดูถูกว่าไม่มีปัญญามีบ้านเป็นของตนเอง”
จากหนังสือ..ตัวตนคนแต้จิ้วผู้เขียน เสี่ยวจิว
ที่บ้านเราคุณสามีได้จัดทำที่บูชาเจ้าแม่กวนอิมและเทพเจ้ากวนอูด้วย โดยจัดทำที่บูชาไว้ร่วมกัน ตามคำแนะนำของซินแส มีการทำพิธีอัญเชิญเทพเจ้าตามหลักการและเวลาที่เหมาะสมด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น