ช่วงนี้แปลก อาการตะคริวกินน่องมาเยือนอีกแล้ว จำได้ว่าเคยมีอาการปวดและรู้จักคำว่าตะคริวก็ตอนตั้งท้องลูกคนเล็กนี่เอง นานๆมีอาการที ไม่บ่อย มักเป็นช่วงนอนตอนกลางคืน ลุกขึ้นมาบีบๆนวดๆ ก็หาย แต่ตอนมีอาการ จำได้ว่ามันปวดมาก ครั้งนี้มาแบบไม่ปวดเกร็ง แต่คลำที่น่องจะเจอก้อน คล้ายกล้ามเนื้อน่อง มีอาการบวม แข็งเป็นลูกกลม กดเจ็บ บีบนวดเบาๆมันก็คลายตัวนิ่มลงบ้าง วันนี้เลยต้องไปเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเอามาใช้ในการดูแลตัวเอง อาจจะยาวไปหน่อยแต่ก็ละเอียดดีนะ
ตะคริว (Muscle cramps) หมายถึง อาการเกร็งตัวหรือหดเกร็งที่ทำให้มีอาการปวดและเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยที่เราไม่สามารถบังคับได้ ร่วมกับมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมัดที่เกิดการหดเกร็ง แต่จะเป็นอยู่เพียงชั่วขณะแล้วอาการจะทุเลาลงไปเอง ตะคริวอาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกายก็ได้ อาจเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียวหรือหลาย ๆ มัดพร้อมกันก็ได้ โดยมักเกิดขึ้นในขณะออกกำลังกาย ขณะเดิน หรือในขณะนั่งพักหรือนอนพักเป็นเวลานาน ๆ
ตะคริวเกิดได้กับกล้ามเนื้อลายทุกมัด (Striated muscle) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ของร่างกายที่เราพบได้โดยทั่วไปใต้ผิวหนัง แต่กล้ามเนื้อที่เกิดตะคริวได้บ่อยที่สุดก็คือ “กล้ามเนื้อน่อง” รองลงมาคือ กล้ามเนื้อต้นขาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง กล้ามเนื้อเท้า และกล้ามเนื้อหลัง โดยโอกาสในการเกิดที่ขานั้นมีเท่ากันทั้งข้างซ้ายและข้างขวา
ตะคริวเป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดในผู้หญิงและผู้ชายก็ใกล้เคียงกัน แต่สถิติการเกิดที่ชัดเจนยังไม่มี เพราะเป็นอาการที่หายได้เองโดยไม่ต้องไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าประมาณ 1 ใน 3 ของคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมักเคยเกิดอาการนี้ และประมาณ 40% ของคนกลุ่มนี้ อาจเกิดอาการซ้ำได้ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์
สาเหตุการเป็นตะคริว
ในปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกที่แท้จริงของการเกิดตะคริว แต่จากการศึกษาเชื่อว่าอาจเกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้มีการยืดตัวบ่อย ๆ จึงทำให้มีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่ายเมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นมากเกินไป นอกจากนั้นยังเชื่อว่าอาจเกิดจากเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติไป หรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดี เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่แล้วตะคริวจะเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน (Idiopathic cramps) แต่มีเพียงส่วนน้อยที่พอทราบสาเหตุอยู่บ้าง (Secondary cramps) ซึ่งมักจะเกิดจากการนั่ง ยืน หรือทำงานอยู่ในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ การใช้กล้ามเนื้อมากเกินไปหรือจนกล้ามเนื้ออ่อนล้าหรืออ่อนแรง การออกกำลังที่ใช้แรงจนเกินกำลัง ออกกำลังกายที่ไม่คุ้นเคย หรือออกกำลังกายติดต่อกันนาน ๆ (เช่น การว่ายน้ำ วิ่งทางไกล การเล่นกีฬาหนัก การยกของหนัก หรือในการงานอาชีพที่ต้องยืนหรือเดินเป็นเวลานาน ๆ) การออกกำลังหรือทำงานในที่ที่มีอากาศร้อน หรือการออกกำลังกายโดยที่ไม่ได้อบอุ่นร่างกาย นอกจากนี้ตะคริวยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ได้แก่
* การดื่มน้ำน้อย ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ (มักเป็นสาเหตุในผู้สูงอายุ)
* การดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์มีผลเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ ร่างกายจึงมักขาดน้ำรวมทั้งกล้ามเนื้อ
* เกิดจากอายุที่มากขึ้น ทำให้เซลล์ทุกชนิดในร่างกายเสื่อมถอยลง ซึ่งรวมถึงเซลล์เนื้อ จึงมักพบอาการนี้ได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ
* สุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ จึงส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อลดลง รวมทั้งการขาดการออกกำลังยืดกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อตึงจนเกิดเป็นตะคริว
* ภาวะการตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับแคลเซียมในเลือดต่ำหรือการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่สะดวก
* ภาวะเกลือแร่ในเลือดต่ำ หรือร่างกายเสียสมดุลของเกลือแร่ที่ใช้ในการทำงานของกล้ามเนื้อที่สำคัญ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม จากอาการท้องเดิน อาเจียน เสียเหงื่อมากจากการทำงาน การเล่นกีฬา อากาศที่ร้อน หรือจากโรคเรื้อรังของอวัยวะที่ควบคุมเกี่ยวกับน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย เช่น โรคไตเรื้อรัง
* การได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการกระทบกระแทก ทำให้เกิดการฟกช้ำที่กล้ามเนื้อ
* ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ (Diuretic drugs), ยาลดไขมัน (Nicotinic acid), ไนเฟดิพีน (Nifedipine – ยาลดความดัน), ซาลบูทามอล (Salbutamol – ยาขยายหลอดลม), ไซเมทิดีน (Cimetidine – ยารักษาโรคกระเพาะ), เพนิซิลลามีน (Penicillamine), ฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine), ราโลซิฟีน (Raloxifene), มอร์ฟีน, สเตียรอยด์ ฯลฯ
* ภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายแข็ง หรือหลอดเลือดตีบตัน จึงส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี กล้ามเนื้อจึงขาดเลือด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ผู้สูบบุหรี่จัด อาจเป็นตะคริวที่ขาได้บ่อยในขณะที่ออกกำลัง เดินเป็นเวลานาน ๆ หรือเดินเป็นระยะทางไกล ๆ หรือเป็นในขณะที่อากาศเย็นตอนดึกหรือเช้ามืดเนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี
* รากประสาทถูกกด เช่น โรคโพรงกระดูกสันหลังแคบ (Spinal stenosis) ที่ส่งผลให้ประสาทสั่งงานกล้ามเนื้อผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยมักมีอาการตะคริวที่น่องในขณะเดินเป็นเวลานาน ๆ หรือเดินเป็นระยะทางไกล ๆ
* ตะคริวที่พบร่วมกับโรคเรื้อรังหรือภาวะอื่น ๆ เช่น โรคพาร์กินสัน, โรคโลหิตจาง, โรคเบาหวาน (ทำให้เกิดความผิดปกติในการใช้พลังงานของร่างกาย), ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, โรคของต่อมไทรอยด์ ภาวะขาดไทรอยด์ ภาวะขาดพาราไทรอยด์ (เกิดความผิดปกติทางฮอร์โมน และรวมไปถึงการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดซึ่งเป็นยาฮอร์โมน), โรคตับและโรคไต ตับแข็ง ไตวาย (เพราะตับและไตมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสมดุลของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย) เป็นต้น
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นตะคริว
* ผู้ที่ยืน เดิน นั่ง หรือนอนเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะส่งผลทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดีพอ
* กลุ่มผู้สูงอายุ
* นักกีฬา ผู้ที่ชอบเล่นกีฬา หรือผู้ที่ทำงานในอาชีพที่ต้องใช้แรงงานและอยู่กลางแดด
* หญิงตั้งครรภ์ เพราะน้ำหนักของท้องจะไปกดทับหลอดเลือดขนาดใหญ่ในช่องท้อง จึงส่งผลทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังกล้ามเนื้อต่าง ๆ ไม่ดีพอ อีกทั้งกล้ามเนื้อขายังต้องแบกรับน้ำหนักของท้องที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดได้จากฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะตั้งครรภ์ จึงส่งผลถึงการทำงานของกล้ามเนื้อ
* เด็กอายุมากกว่า 12 ปี (ช่วงสูงสุดที่เกิดคือ 16-18 ปี)
* ผู้ที่ชอบห่มผ้าห่มจนรัดช่วงขามากเกินไป โดยเฉพาะการปูเตียงนอนแบบตะวันตก จึงทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณขาจึงลดลงและมักเป็นสาเหตุทำให้เป็นตะคริวในช่วงกลางคืน
* ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
* การรับประทานยาบางชนิดตามที่กล่าวมา
* ผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือภาวะต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา และไม่ได้รับการควบคุมและรักษาให้เป็นปกติ
อาการเป็นตะคริว
ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น น่อง ต้นขา ฯลฯ มีการแข็งเกร็งและปวดมาก เมื่อเอามือไปคลำดูจะรู้สึกแข็งเป็นก้อน ๆ ถ้าพยายามขยับเขยื้อนกล้ามเนื้อส่วนนั้นจะทำให้ยิ่งแข็งตัวและปวดมากขึ้น (การนวดและยืดกล้ามเนื้อส่วนที่มีอาการจะช่วยทำให้ตะคริวหายเร็วขึ้น) ส่วนใหญ่แล้วอาการมักเกิดขึ้นในขณะออกกำลังกาย ขณะเดิน นั่งพัก นอนพัก หรือทำงานอยู่ในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ แต่ถ้าเป็นตะคริวในขณะนอนหลับ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดจนสะดุ้งตื่นเอง
โดยทั่วไปอาการตะคริวจะเป็นอยู่เพียงชั่วขณะเพียงไม่กี่วินาที โดยทั่วไปมักเกิดไม่เกิน 2 นาที แต่อาจมีบางรายเกิดนานได้ถึง 5-15 นาที แล้วอาการแข็งเกร็งจะหายไปได้เอง ซึ่งภายหลังกล้ามเนื้อคลายตัวแล้ว อาจยังมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมัดนั้นอยู่นานเป็นนาที เป็นชั่วโมง หรือเป็นวันก็ได้ แต่อาการปวดหรือเจ็บจะน้อยกว่าช่วงกล้ามเนื้อหดเกร็ง แต่ยังสามารถใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้นได้ตามปกติ เมื่อหายแล้วผู้ป่วยจะรู้สึกเป็นปกติทุกอย่าง ไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วยแต่อย่างใด
ในบางรายอาจมีอาการตะคริวที่ขาในขณะนอนหลับตอนกลางคืนจนสะดุ้งตื่น หรือที่เรียกว่า “ตะคริวตอนกลางคืน” (Nocturnal leg cramps, Night leg cramp) ซึ่งมักเกิดกับกล้ามเนื้อขา และพบได้บ่อยในคนวัยกลางคนและวัยสูงอายุ หรือในบางรายอาจเป็นตะคริวในขณะออกกำลังหรือทำงานในที่ที่มีอากาศร้อน ที่เรียกว่า “ตะคริวจากความร้อน” (Heat cramps)
สำหรับผู้ที่เขียนหนังสือติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจเกิดตะคริวที่นิ้วหรือมือได้ ซึ่งเรียกว่า “ตะคริวนักเขียน” (Writer’s cramps, Graphospasm) และอาจพบได้ในช่างทาสีหรือเกษตรกรที่ใช้มือจับหรือหยิบอุปกรณ์ใช้งานเป็นเวลานาน ๆ
ภาวะแทรกซ้อนของตะคริว
คนส่วนใหญ่มักเป็นตะคริวเพียงชั่วขณะแล้วทุเลาไปเอง ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด ยกเว้นอาการปวดในขณะที่เกิดอาการหรือภายหลังจากเกิดอาการ ซึ่งมักจะหายไปได้เองภายไม่กี่นาทีหรือไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่หากเป็นตะคริวในขณะว่ายน้ำ เล่นกีฬา หรือขับรถก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดอันตรายจากการจมน้ำ หกล้ม หรือขับรถเฉี่ยวชนได้
ตะคริวเป็นอาการไม่รุนแรงและมักหายไปได้เองโดยเฉพาะตะคริวที่ไม่ทราบสาเหตุ แต่ในตะคริวที่เกิดโดยมีสาเหตุ ถึงแม้จะเป็นอาการที่ดูแลให้หายเองได้ แต่ก็ต้องรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุด้วย มิฉะนั้นก็จะเกิดตะคริวได้บ่อย ๆ ซึ่งความรุนแรงของตะคริวในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิด เช่น เกิดจากโรคเบาหวาน เกิดโรคของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
การวินิจฉัยสาเหตุของตะคริว
แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากการดูประวัติอาการ (เป็นตะคริวแต่ละครั้งนานแค่ไหน ตะคริวเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน เกิดบ่อยหรือไม่) ประวัติการทำงานหรืออาชีพ การเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์ ประวัติโรคประจำตัว และยาที่ใช้อยู่เป็นประจำ ร่วมกับการตรวจร่างกาย (ในขณะที่เป็นตะคริวจะพบกล้ามเนื้อเกร็งแข็งบริเวณที่เป็นตะคริว) และหาสาเหตุของการเป็นตะคริวได้จากประวัติทางการแพทย์ต่าง ๆ รวมทั้งอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจเอกซเรย์ โดยขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ความผิดปกติที่ตรวจพบ และดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน ตรวจเลือดเพื่อดูฮอร์โมนไทรอยด์ ในรายที่สงสัยว่าเป็นโรคต่อมไทรอยด์ หรือตรวจภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็ก MRI เพื่อดูภาพของกระดูกสันหลัง ช่องสันหลัง และไขสันหลัง ในรายที่สงสัยว่ามีสาเหตุมาจากโรคของอวัยวะดังกล่าว
วิธีรักษาตะคริว
* สิ่งสำคัญอันดับแรกเมื่อเป็นตะคริว คือ การหยุดพักการเคลื่อนไหวหรือใช้งานกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นตะคริวชั่วคราว จนกว่าอาการตะคริวจะหายไป
จากนั้นให้ทำปฐมพยาบาลด้วยการใช้มือนวดกล้ามเนื้อมัดที่เป็นตะคริวเบา ๆ จนกว่ากล้ามเนื้อจะคลายตัว ถ้าหากกล้ามเนื้อคลายตัวแล้ว อาจนวดต่อด้วยการใช้มือบีบนวดไล่จากเอ็นร้อยหวายขึ้นมาจนถึงข้อเข่า ซึ่งจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น หรือจะใช้วิธียืดกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้ตึงด้วยวิธีดังต่อไปนี้ก็ได้
ถ้าเป็นตะคริวที่น่อง ให้เหยียดหัวเข่าให้ตรงและดึงปลายเท้ากระดกเข้าหาหัวเข่าให้ได้มากที่สุดอย่างช้า ๆ (ห้ามทำการกระตุกหรือกระชากอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้เจ็บปวดจนกล้ามเนื้อฉีกขาดได้) และอาจเอื้อมมือไปดึงปลายเท้าเข้าหาตัวด้วยก็ได้ โดยให้ทำค้างไว้ประมาณ 1-2 นาที
ถ้าเป็นตะคริวที่ต้นขา ให้เหยียดหัวเข่าให้ตรง ยกเท้าขึ้นให้สูงจากพื้นเล็กน้อยและกระดกปลายเท้าลงล่าง (ไปทางด้านตรงข้ามกับหัวเข่า) โดยให้ทำค้างไว้ประมาณ 1-2 นาทีเช่นกัน
ในช่วงที่กล้ามเนื้อหดเกร็งมาก ให้ใช้วิธีประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการลงได้ หรือเมื่อมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมาก การประคบเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการนี้ได้
หัวข้อต่อไปขอยกไปบทความหน้านะคะ อ่านแล้วเนื้อหาเยอะมาก และมีประโยชน์ นำไปใช้ได้ รอติดตามกันนะคะ เขียนไปรู้สึกถึงอาการง่วงเหงาหาวนอน ฝนตกอากาศครึ้มๆทำเอาตาจะหลับซะให้ได้ เลยขอยกยอดไปครั้งหน้าจ้า
ขอบคุณข้อมูล จากเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)
ความสุขในการใช้ชีวิตแบบพอเพียง เน้นสุขภาพ กายสุข ใจสุข ไร้โรคา แบ่งปันความรัก ความรู้ในการดูแลตัวเองและครอบครัว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
การไหว้แม่ย่านางรถ
อย่างที่รู้กันว่าความเชื่อของคนไทยเมื่อไรที่ออกรถมาใหม่ไม่ว่าจะเป็นมือหนึ่งหรือรถมือสองก็จะเคารพนับถือและบูชาแม่ย่านางรถซึ่งเป็นสิ่งศ...
บทความน่าสนใจ
-
ต้นประยงค์ มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็...
-
ต้อยติ่ง ชื่อสามัญ Waterkanon, Watrakanu, Minnieroot, Iron root, Feverroot, Popping pod, Cracker plant, Trai-no, Toi ting จัดอยู่ในวงศ์เหงือ...
-
บางท่านเรียก “พุดศรีลังกา” เป็นไม้พุ่มเตี้ย สูงไม่เกิน 1.5-2 ฟุต แตกกิ่งก้านต่ำ หนาแน่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับถี่บริเวณปลายกิ่ง ใบเ...
-
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2517 ดังพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปร...
-
วันนี้ขอพูดถึงเรื่องสุขภาพกันบ้าง หลังย้ายเข้าบ้านใหม่ 16 มกราคม 2559 ชีวิตแต่ละวันก็หมดไปแบบชิลล์ๆ เช้าส่งลูกไปโรงเรียน เสร็จแล้วก...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น