วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2560

บ้านประหยัดพลังงาน

       ตอนนี้บ้านประหยัดพลังงานของเมืองไทย ที่เจ้าของบ้านทั่วไปสามารถจะก่อสร้างเพื่ออยู่อาศัยได้ กำลังจะพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ จากเดิมเมื่อสักประมาณ 15 -20 ปีก่อน ที่มีอยู่ด้วยกัน 2 แนวทาง คือ บ้านที่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยที่สุด หรือไม่ใช้พลังงานเลย อีกแนวทางที่พัฒนาขึ้นไปก็คือ บ้านที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ หรือใช้แล้วใช้ให้คุ้มค่า และเมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาจนมีราคาที่ไม่แพงเกินไปและรัฐให้การส่งเสริมสนับสนุน โดยเฉพาะระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cell หรือ PV cell) สำหรับติดตั้งบนหลังคาบ้าน (Solar PV Rooftop) บ้านประหยัดพลังงานของไทยเรากำลังพัฒนาจาก “บ้านประหยัดพลังงาน” เป็น “บ้านผลิตพลังงาน” อาจเรียกเป็น “บ้านพลังงานศูนย์” (Zero Energy House) และน่าจะพัฒนาต่อจนเป็น “บ้านผลิตพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” แนวคิดที่ว่านี้มีมานานแล้ว มีการก่อสร้างจริงเพื่อศึกษาวิจัยเป็นระยะเวลาพอสมควร บทความตอนนี้จึงขออธิบายแนวทางของบ้านประหยัดพลังงานแต่ละแนวทางไว้ เพื่อท่านเจ้าของบ้านจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในการก่อสร้างหรือปรับปรุงบ้านกันนะคะ



บ้านประหยัดพลังงาน โดยใช้พลังงานน้อยที่สุดหรือไม่ต้องใช้พลังงานเลย

       ถ้าเอ่ยถึงบ้านประหยัดพลังงานแบบนี้ เรามักยกตัวอย่าง “เรือนไทย” ที่ก่อสร้างวางตัวบ้านให้สอดคล้องกับภูมิประเทศ ภูมิอากาศร้อนชื้นของไทย เช่น หลบแดด รับลม และได้แสงธรรมชาติที่ดีเพียงพอ บ้านจึงมีลักษณะ โปร่ง โล่ง มีการวางเรือนแยกเป็นหลัง แล้วเชื่อมด้วยชานระเบียง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลมพัดผ่านระบายอากาศร้อนและความชื้นไม่ให้สะสม วัสดุที่ใช้จึงมักเป็นวัสดุธรรมชาติและมีความหนาไม่มาก จึงไม่อมความร้อนไว้ เช่น ไม้ ส่วนหลังคาก็มีชายคายื่นยาวเพื่อป้องกันฝน และแดดไม่ให้ตกกระทบกับผนังหรือส่องผ่านหน้าต่างเข้ามาจนทำให้ภายในบ้านร้อน และด้วยเหตุที่ต้องอาศัยธรรมชาติดังนั้นโดยรอบบ้านจึงต้องมีสภาพแวดล้อมที่ดี เช่นมีต้นไม้ให้ร่มเงา มีแหล่งน้ำเพื่อช่วยลดอากาศร้อนก่อนที่จะเข้ามาในตัวบ้าน ถ้าสภาพแวดล้อมและการออกแบบตัวบ้านดี พลังงาน (ไฟฟ้า) ที่ต้องใช้เพื่อการอยู่อาศัยก็มีการใช้แต่น้อยเท่าที่จำเป็น ภาษาวิชาการเรียกเป็นบ้านแบบ แพสทีฟซิสเต็ม (Passive System)

บ้านประหยัดพลังงาน โดยใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

       แต่เมื่อสภาพแวดล้อมบางพื้นที่เปลี่ยนไป เช่น พื้นที่ในเมือง มีแต่ตึกแออัด ไม่มีที่โล่งและต้นไม้มีแต่ถนน การจะเปิดบ้านให้โล่งเพื่อรับลมก็จะเกิดปัญหาเพราะมีแต่ฝุ่นและควันรถ เป็นผลให้จำเป็นต้องปิดหน้าต่างแล้วเปิดแอร์เพื่อปรับอากาศที่ต้องใช้พลังงาน ดังนั้นบ้านจึงต้องออกแบบให้มีการรั่วซึมของอากาศน้อย ใช้วัสดุที่ช่วยป้องกันความร้อนไม่ให้เข้าสู่ภายในบ้าน เช่น ใช้ฉนวนกันความร้อนมาเสริม หรือใช้กระจกที่มีสมบัติป้องกันความร้อนได้ดี     เพื่อให้การใช้พลังงาน (ในการปรับอากาศ) มีประสิทธิภาพ แนวทางนี้ภาษาวิชาการเรียกว่าเป็นบ้านแบบ แอคทีฟซิสเต็ม (Active System) อย่างไรก็ตาม บ้านในแนวทางนี้ก็ยังต้องออกแบบวางตัวบ้านให้สอดคล้องกับทิศทางแดดลม เพราะหากบ้านหลังใดออกแบบไม่ดี หันทิศทางไม่ถูกต้อง  ปล่อยให้แดดส่องเข้ามาภายในบ้านเกิดเป็นความร้อนสะสมกักเก็บไว้ภายใน ผลก็คือร้อน และยิ่งร้อนมากขึ้นหากติดฉนวนทั้งบ้านโดยที่ไม่ได้รับการออกแบบที่ดี เพราะฉนวนกันความร้อนที่เราหวังจะให้กันความร้อนเข้า ก็จะกลายเป็นตัวกันไม่ให้ความร้อนระบายออก เมื่อเปิดแอร์ก็จะสิ้นเปลืองทั้งพลังงานและค่าไฟ



       สองแนวทางแรกนี่เป็นแนวทางพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงและนำไปใช้ในบ้านทุกหลัง บ้านประหยัดพลังงานที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็เป็นการประยุกต์ใช้สองแนวทางข้างต้นผสมผสานกันนั่นเองค่ะ

 บ้านผลิตพลังงาน หรือบ้านพลังงานศูนย์ (Zero Energy House)

       บ้านแนวคิดนี้ไม่ได้หมายความว่าการอยู่อาศัยในบ้านไม่มีการใช้พลังงานเลย แต่หมายความว่า พลังงานไฟฟ้าที่บ้านผลิตได้กับที่ใช้ไป เมื่อหักลบกันแล้วมีค่าเป็นศูนย์ เพราะเมื่อบ้านได้รับการออกแบบวางตัวบ้านที่ดี ใช้วัสดุที่เหมาะสม พลังงานไฟฟ้าที่ต้องใช้ในบ้านก็น้อยลงจนถึงระดับที่สามารถจะนำเอาเทคโนโลยีมาผลิตไฟฟ้าให้มีปริมาณเพียงพอกับที่ต้องการใช้ภายในบ้าน หัวใจสำคัญของบ้านแนวคิดนี้ยังต้องอาศัยหลักการออกแบบบ้านให้พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลักเพื่อให้ใช้พลังงานน้อยที่สุด บริเวณใดที่ต้องใช้พลังงานก็มีการออกแบบเพื่อให้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วจึงนำเทคโนโลยีผลิตพลังงานมาติดตั้งเสริมเข้าไป ปัจจุบันก็คือการใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์มาติดตั้งบนอาคารหลังคาบ้านเพื่อให้ผลิตไฟฟ้า โดยการออกแบบตัวบ้านต้องคำนึงถึงทิศทางของการวางแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อให้ได้รับแสงมากที่สุดโดยไม่ให้มีสิ่งบดบังที่ทำให้เกิดเงาทาบบนแผง หรือมีก็น้อยที่สุด เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (PV cell) แต่เดิมราคาค่อนข้างสูงและการส่งเสริมจากภาครัฐยังมีน้อยอยู่ แต่นับต่อจากนี้ จะกลายเป็นเรื่องปรกติธรรมดาสำหรับบ้านทุกหลัง

บ้านผลิตพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Ecology House, Bio-Solar House)

       เมื่อบ้านถูกออกแบบให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและใช้พลังงานน้อย จนสามารถผลิตไฟฟ้าให้มีเพียงพอสำหรับการใช้ในบ้าน แนวคิดเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมจะถูกเสริมเพิ่มเข้ามาในการออกแบบบ้าน การเตรียมพื้นที่และอุปกรณ์ในบ้าน หัวใจหลักก็คือ
       - การไม่ให้ของเสียภายในบ้านถูกปล่อยทิ้งออกไป เช่น เศษอาหาร น้ำทิ้งและของเสียในห้องน้ำ ฯลฯ แต่นำกลับมาเป็นของดีใช้ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร หรือนำน้ำเสียกลับมารดน้ำต้นไม้ หรืออาจใช้การหมักของเสียให้เกิดเป็นก๊าซที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มภายในบ้านได้
       - การใช้วัสดุสร้างบ้านที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการประเมินเลือกใช้วัสดุที่ใช้พลังงานในการผลิต พลังงานในการขนส่งน้อยลง (เปรียบเทียบจากค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นผลกระทบสำคัญต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือสภาวะโลกร้อน) และอาจรวมไปถึงการก่อสร้างที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

       คงพอจะเห็นแนวคิดของบ้านประหยัดพลังงานที่พัฒนาขึ้นบ้างนะคะ ดังนั้นท่านใดกำลังคิดจะสร้างบ้านใหม่ อย่าลืมนำแนวคิดบ้านประหยัดพลังงานทั้ง 4 แนวทางไปประยุกต์ใช้กันนับต่อจากนี้นะคะ

 ขอบคุณแหล่งที่มาจาก
- http://52011111060g7.blogspot.com
- http://scgheim.com
- http://www.homeadore.com

     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การไหว้แม่ย่านางรถ

อย่างที่รู้กันว่าความเชื่อของคนไทยเมื่อไรที่ออกรถมาใหม่ไม่ว่าจะเป็นมือหนึ่งหรือรถมือสองก็จะเคารพนับถือและบูชาแม่ย่านางรถซึ่งเป็นสิ่งศ...

บทความน่าสนใจ